วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การรักษาศีลข้อวิกาละโภชนา

ถาม: วิกาละโภชนา พระกับฆราวาสต่างกันไหม ?

ตอบ : ถ้าฆราวาส หลวงพ่อท่านบอกว่าส่วนใหญ่แล้วทำงานมันเลิกเที่ยง ท่านบอกว่าให้กำหนดไว้ว่าไม่เกินบ่าย ๒ โมง แต่ว่าของพระนี่...ถ้าเที่ยงตรงเป๊งก็ต้องเลิกเลย เพราะ โลกมันนิยมอย่างนั้น ความจริงวิกาลแปลว่ากลางคืน ศีลพระมีอยู่ ๒ ข้อ ที่กล่าวชัดๆ ถึงเวลาวิกาล ก็คือรับประทานอาหารในเวลาวิกาลอย่างหนึ่ง และเข้าบ้านในเวลาวิกาลโดยไม่ได้บอกลาอย่างหนึ่ง

แต่คราวนี้ของเรา เวลาวิกาลที่ไม่ได้บอกลาจะเข้าไปในบ้าน เขาตีว่าพระอาทิตย์ตกดินแล้ว แต่ว่าเวลาวิกาลที่ฉันอาหาร เขาตีว่าหลังเที่ยงไปแล้ว มันลักลั่นกัน แต่พม่ามันตีราคาเดียวกัน เพราะฉะนั้น พระพม่าฉันมื้อเย็นกันเพลิดเพลินเจริญใจไปเลย ถือว่าวิกาลเหมือนกัน แต่จริงๆ เราต้องมาดูตรงจุดที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านปรารถนาให้เรารู้จักโภชเนมัตตัญญุตา คือ ประมาณในการกิน การรู้จักประมาณในการฉันแต่พอควรแก่ธาตุขันธ์ตัวเอง มันก็ไม่ทำให้กิเลสกำเริบ มันทำให้ร่างกายโปร่งเบา มันทำให้ภาวนาได้ง่าย มันทำให้ไม่ต้องมีห่วงมีกังวลในการเตรียมอาหารมื้อต่อไป ดังนั้นแม้ว่าฆราวาสเราจะว่ากันจนถึงบ่าย ๒ โมง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้เรากินตั้งแต่เช้ายันบ่าย ๒ โมง มันต้องรู้จักประมาณบ้าง

สมัยก่อนมีโยมอยู่คนหนึ่ง ชุดนี้ทำงานเก่ง เวลาไปวัดท่าซุง คุณจะเห็นชุดขาวพรึ่บไปทั้งชุด ๓๐ – ๔๐ คนเลย มีอยู่รายหนึ่งถือศีลแปด อธิษฐานว่าจะกินถึงบ่าย ๒ โมง ปรากฎว่ากินวันหนึ่ง ๑๐ กว่ามื้อ ตกลงว่าให้กิน ๓ มื้อเท่าเดิมดีกว่า เปลืองน้อยกว่าเยอะเลย ต้องรู้จักประมาณในการกิน ไม่ใช่ว่าตะบันไป ให้มันเป็นมื้อเป็นคราว

ถาม: ไอศกรีม ?

ตอบ : ไอศกรีม จริงๆ ถ้าหากว่าเป็นพระ ไม่มีพวกถั่ว ลอดช่อง สาคู มันเป็นแค่นมเนยมันได้ แต่หลวงพ่อท่านเคยขอไว้ ท่านบอกว่าถ้าไม่ถึงกับจะตายห่าจริงๆ อย่าไปแดกมันเลยลูก มันน่าเกลียด คือ เห็นพระนั่งกินไอติมอยู่ มันงามไหมล่ะ ? โดยเฉพาะตอนเย็นๆ แต่ว่าศีลของพระเป็นอย่างนั้น คราวนี้ของโยมเขาไม่ได้ห้ามเอาไว้ชัด ถ้าเรารู้ชัดว่ามันไม่ใช่อาหารก็ว่าไป แต่ไม่ใช่กินไป ๓ ถ้วย ๕ ถ้วย เอามันแค่พอระงับการกระวนกระวายของร่างกายที่จะเกิดจากความหิว

ถาม: น้ำเต้าหู้ ?

ตอบ : น้ำเต้าหู้ ถ้าพระไม่ได้จ้ะ แต่โยมได้ เพราะว่าของพระเขาระบุไว้ชัดเลยว่าอันไหนเป็นอาหาร อันไหนเป็นเภสัช ส่วนที่เป็นอาหารเขาระบุไว้ชัดเลย สาลี วีหี ตัณฑุลา สาลีคือข้าว วีหีคือถั่ว ตัณฑุลาคืองา น้ำเต้าหู้นี่มันมาจากถั่ว ถึงทำเป็นน้ำแล้วเขายังถือว่าเป็นอาหารอยู่ เพราะฉะนั้นพวกน้ำเต้าหู้ น้ำถั่วเหลือง แลคตาซอย ไวตามิลค์ ถวายพระไป ถ้าท่านไม่รู้ท่านฉันไปก็เป็นโทษเหมือนกัน

แต่มาตอนหลังมันถวายกันจนกระทั่งพระไปไม่เป็นแล้ว คือไม่ว่ากี่มื้อถวายแต่อย่างนั้น แล้วเขาถามว่ายังไง ? บอกคุณก็ฉันไป ๑ แก้วก็พอ ไม่ใช่ฟาดไป ๓ ขวด ๕ ขวด มันต้องรู้จักประมาณ ในเมื่อโยมเขาถวายมา ถ้าเราไม่ฉัน เขาก็เกิดน้อยใจ เสียใจ กำลังใจเขาตก คุณก็ฉันให้เขาดูสักแก้ว ครึ่งแก้ว แล้วเราก็ไปปลงอาบัติของเรา เพราะเรารู้ว่าไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่เจตนาเราจะฉันเอาอิ่มเอาสนุกจะกินให้อ้วนพี จะกินให้ยั่วกิเลสมันเกิดขึ้น แต่ว่าการฉันโดยบังคับด้วยสถานการณ์เพราะต้องการรักษาศรัทธาญาติโยม แต่ถ้าเป็นอาตมารับมา ก็ส่งต่อไปเลย อาตมาไม่ค่อยรักษาศรัทธาหรอก มันมาเยอะ เราเหนื่อย

ถาม: ไอศกรีมไม่ต้องเคี้ยว

ตอบ : จริงๆ มันเป็นส่วนของนมเนย พระพุทธเจ้าท่านอนุญาตให้เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ถ้านมเป็นเนยเฉยๆ ไม่เป็นไร แต่ก็อย่างว่าน่ะ ที่หลวงพ่อท่านว่ามันน่าเกลียด ถ้าเป็นโยมกินไปเถอะ เพราะเขาไม่รู้หรอกว่าเรารักษาศีลแปดหรือเปล่า ยกเว้นเราโกนหัวนุ่งขาวห่มขาว

ถาม: ไอศกรีมกะทิก็ห้ามด้วย

ตอบ : ก็ดูสิว่ามันจะไม่มีของอื่นที่เป็นอาหารอยู่ ถ้าหากว่ามีพวกผลไม้มีลอดช่อง มีถั่ว ก็ฉันไม่ได้อยู่แล้ว จริงๆ กะทิเป็นน้ำมัน ที่เขาห้าม คือ ห้ามน้ำพวกที่เป็นมหาผล ที่เขาห้ามเพราะว่าน้ำมันมีฮอร์โมนมาก เป็นพระต้องการความสงบ กินไอ้ที่มีฮอร์โมนเยอะๆ เข้าไป มันหาที่ไปไม่เป็นหรอก

ถาม: น้ำผลไม้ก็ไม่ได้ ?

ตอบ : น้ำผลไม้เขาห้ามไอ้ที่ใหญ่กว่ากำปั้น ส่วนใหญ่พวกสับปะรด แตงโม ส้มโอ มะพร้าวอ่อน ฮอร์โมนเยอะมาก ฉันเข้าไปจะไม่สุขสงบ แรกๆ ท่านอนุญาตไว้ ๘ อย่าง เรียกว่า อัฏฐบานคือ อัฏฐปานะ น้ำ ๘ อย่าง มาตอนหลังท่านบัญญัติเพิ่มเติมว่า ถ้าเป็นผลไม้แล้วโตไม่เกินลูกมะตูม คือกะว่าประมาณกำปั้นนี่ ถ้าไม่โตเกินนั้นก็อนุญาตให้ ถ้าโตเกินนั้นไม่อนุญาต



สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนมกราคม ๒๕๔๗(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ในคิริมานนนทสูตร(อาพาธสูตร)พระไตรปิฎกเล่มที่24ว่า
"การบวชมิใช่มุ่งเพื่อประโยชน์อย่างอื่น บวชเพื่อระงับดับกิเลสเท่านั้นถ้าไม่หว้งเพื่อความดับกิเลสแล้วไม่ต้องบวชดีกว่า"

Q กล่าวว่า...

ขออนุโมทนาบุญกับการให้ความรู้ในครั้งนี้ด้วยค่ะ

การก่อผนังอิฐบล็อก

ที่มา :  https://itdang2009.com/อิฐบล็อก-และเทคนิคการก่/ อิฐบล็อก และเทคนิคการก่ออิฐบล็อก ...